การเพาะเลี้ยงปลากัด

การเพาะเลี้ยงปลากัด
ปลากัด  มีชื่อสามัญว่า  Siamese  Fighting  Fish   เป็นปลาสวยงามที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมานานแล้ว   เนื่องจากเป็นปลาสวยงามที่นอกจากจะมีสีสันสดเข้มสวยงามสะดุดตามากแล้ว   ยังเป็นปลาที่จัดว่าเป็นยอดนักสู้ตัวฉกาจอย่างยิ่ง   โดยเฉพาะปลากัดที่ไปจากประเทศไทยจัดว่าเป็นปลาที่กัดเก่งและมีความทรหดมากที่สุด   ทำให้ได้รับความนิยมจากประเทศต่างๆทั่วโลก   ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงปลากัดมานานแล้ว   และได้เน้นเป็นการเลี้ยงเพื่อเกมกีฬาโดยเฉพาะมีการจัดตั้งเป็นบ่อนการพนัน   ทางราชการจะมีการอนุญาตให้เปิดสถานที่สำหรับเดิมพันการกัดปลา   เรียก บ่อนปลากัด  หรือ  บ่อนกัดปลา   มาตั้งแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบัน
                การเลี้ยงปลากัดเป็นปลาสวยงามมักนิยมเลี้ยงในขวดหรือโหลขนาดเล็ก   ไม่นิยมเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่น  เพราะเป็นปลาที่ชอบสร้างอาณาเขตและมักจะไล่กัดปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน   ซึ่งในช่วงนี้ปลาจะมีสีสดเข้มสวยงาม   แต่ถ้านำไปเลี้ยงกับปลาขนาดใหญ่ปลาจะตื่นตกใจ  เหมือนกับการแพ้คู่ต่อสู้   ในช่วงนี้ปลาก็จะสีซีดดูไม่สวยงาม   จึงจำเป็นต้องเลี้ยงปลากัดไว้เพียงตัวเดียวในภาชนะที่ไม่ใหญ่มากนัก   ปลาก็จะมีความรู้สึกว่าสามารถสร้างอาณาเขตของตัวเองไว้ได้ก็จะมีสีสันสดใสสวยงาม   จัดว่าเป็นปลาที่ติดตลาด   ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ   สามารถจำหน่ายได้ดีตลอดปี   โดยเฉพาะเด็กจะชอบหาซื้อปลากัดไปเลี้ยง   เพื่อนำไปกัดแข่งขันกัน   แล้วก็หาซื้อปลาตัวใหม่อยู่เสมอ
.
      
ภาพที่ 1  ลักษณะภาชนะรูปแบบต่างๆที่สวยงามนำมาใช้เลี้ยงปลากัด
                                ที่มา http://www.bettatalk.com/images/betta_in_a_vase.jpg (ภาพ )
                                        http://www.siamsbestbettas.com/gallery.html (ภาพ )
                                        http://www.cbsbettas.org/petbetta.html (ภาพ )
                                        http://www.cleavelin.net/archives/DSC01048.JPG (ภาพ )
.
1 ประวัติของปลากัด              
                ปลากัดเป็นปลาพื้นบ้านของไทย  ในธรรมชาติชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง  เช่น หนอง   บึง   หรือชายทุ่งนา   โดยมักพบตามชายฝั่งที่ตื้นๆและมีพรรณไม้น้ำมาก   เป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวก Labyrinth  Fish  ได้แก่  พวกปลากระดี่ทั้งหลาย   ซึ่งเป็นกลุ่มปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจ   ทำให้ปลาอาศัยอยู่ในที่มีออกซิเจนต่ำได้   จึงทำให้สามารถเลี้ยงปลากัดในขวดต่างๆที่มีปากขวดแคบๆได้   ปลากัดจัดว่าเป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร   โดยจะชอบกินแมลงและตัวอ่อนของแมลงต่างๆ (Insectivores)        
.
2 การจำแนกทางอนุกรมวิธาน              
                Nelson (1984)  ได้จัดลำดับชั้นของปลากัดไว้ดังนี้
             Superclass                :   Osteichthyes
                Class                      :   Actinopterygii
                   Order                  :  Perciformes  -- perch-like fishes
                      Suborder          :  Anabantoidei   -- labyrinthfishes
                         Family            :  Osphronemidae Bleeker, 1859 -- giant gouramis
                            Subfamily    :  Macropodinae Liem, 1963
                              Genus        :  Betta 
                ปลากัดที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยมานานแล้วนั้นถูกจัดให้เป็นชนิด splendens  หรือมีชื่อวิทยาศษสตร์ว่าBetta splendens, Regan, 1910 ปัจจุบันได้มีการสำรวจพบชนิดของปลากัดประมาณ 50 - 60 ชนิด  โดยจัดแบ่งกลุ่มตามลักษณะการวางไข่ออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
                     1 กลุ่มแรก เป็นปลากัดที่ก่อหวอดวางไข่  เป็นปลากัดที่ผู้เพาะเลี้ยงปลากัดส่วนใหญ่ดำเนินการกันมานานแล้ว  ปลาเพศผู้จะสร้างรัง เรียกว่าหวอดที่บริเวณผิวน้ำและจะติดอยู่ใต้ใบพันธุ์ไม้น้ำชายฝั่ง  เพื่อใช้ในการฟักไข่ ตัวอย่างปลากัดในกลุ่มนี้ เช่น  Betta coccina   B. brownorum   B. burdigala   B. livida   B. rutilans   B. tussyae 
                     2 กลุ่มที่สอง เป็นปลากัดอมไข่  เป็นปลากัดที่ถูกนำมาเลี้ยงยังไม่นานนัก  เป็นปลาที่มีพฤติกรรมการแพร่พันธุ์วางไข่คล้ายกับปลาหมอสีกลุ่มที่อมไข่  เพื่อให้ไข่ฟักตัวภายในปาก  ตัวอย่างปลากัดในกลุ่มนี้ เช่น  Betta akarensis    B. patoti    B. anabatoides    B. macrostoma    B. albimarginata   B. channoides 
.
ภาพที่ 2  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัด Betta splendens
.
    
ภาพที่ 3  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดที่ก่อหวอดวางไข่ชนิดอื่น ๆ
                                       ที่มา : http://ibc-smp.org/species/splendens.html
.
      
ภาพที่ 4  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดอมไข่บางชนิด
                                                ที่มา : http://ibc-smp.org/species/splendens.html
.
3 ลักษณะรูปร่างของปลากัด           
                 ปลากัดจัดเป็นปลาขนาดเล็ก     ลำตัวมีความยาวประมาณ  5 - 7  เซนติเมตร   ลักษณะลำตัวเรียวยาว  แบนข้าง   ปากมีขนาดเล็กเชิดขึ้นด้านบนเล็กน้อย   ส่วนหัวมีเกล็ดปกคลุม   ครีบก้นมีฐานครีบค่อนข้างยาว   มีจำนวนก้านครีบ  23 - 26 อัน   ครีบท้องเล็กยาว   สีของลำตัวเป็นสีเทาแกมดำ   สีของครีบและเกล็ดบริเวณใกล้ครีบจะเป็นสีสดเข้มสีใดสีหนึ่งทั้งตัว   เช่น  ปลากัดสีแดง   จะมีครีบทุกครีบและเกล็ดที่อยู่ใกล้ครีบเป็นสีแดงทั้งหมด
.
ภาพที่ 5  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัด
.
4 ลักษณะพันธุ์ของปลากัด        
                ปลากัดที่มีเพาะเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน   มีหลายสายพันธุ์ดังนี้
                4.1 ปลากัดลูกหม้อ   มีลักษณะลำตัวค่อนข้างหนาเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น   ส่วนหัวค่อนข้างโต   ปากใหญ่   ครีบสั้นสีเข้ม   เดิมมักจะเป็นสีเขียว   หรือสีน้ำเงินแกมแดง   แต่ปัจจุบันมีหลายสี   เช่นสีแดง   สีน้ำเงิน   สีม่วง  สีเขียว   และสีนาก   เป็นชนิดที่มีความอดทน   กัดเก่ง   ได้รับความนิยมสำหรับการกัดพนัน ปัจจุบันนิยมเรียกเป็นกลุ่มของ ปลากัดครีบสั้น
.
   
ภาพที่ 6  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดลูกหม้อ
.
                  4.2 ปลากัดลูกทุ่ง   มีลักษณะลำตัวเล็กกว่าพันธุ์ลูกหม้อ   ลำตัวค่อนข้างยาว   ครีบยาวปานกลางหรือยาวกว่าพันธุ์ลูกหม้อเล็กน้อย   สีไม่เข้มมากนัก   ส่วนมากมักจะเป็นสีแดงแกมเขียว   เป็นพันธุ์ที่มีความตื่นตกใจได้ง่ายที่สุด  การกัดจะมีความว่องไวมากกว่าพันธุ์ลูกหม้อ   ปากคม   แต่ไม่ค่อยมีความอดทน   ใช้เวลาประมาณ  30  นาทีจะรู้ผลแพ้ชนะ   นิยมใช้ในวงการกัดพนันเช่นกัน
.
       
ภาพที่ 7  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดลูกทุ่ง 
.
                  4.3 ปลากัดลูกผสม   หรือพันธุ์สังกะสี   หรือพันธุ์ลูกตะกั่ว   ป็นลูกปลาที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลากัดลูกหม้อกับปลากัดลูกทุ่ง   โดยอาจผสมระหว่างพ่อเป็นปลาลูกหม้อกับแม่เป็นปลาลูกทุ่ง   หรือพ่อเป็นปลาลูกทุ่งกับแม่เป็นปลาลูกหม้อ   ได้ทั้งสองแบบ   ผู้เพาะต้องการให้ปลาลูกผสมที่ได้มีลักษณะปากคม   กัดคล่องแคล่วว่องไวแบบปลาลูกทุ่ง   และมีความอดทนแบบปลาลูกหม้อ โดยพยายามคัดปลาที่มีลักษณะลำตัวเป็นปลาลูกทุ่ง เพราะเมื่อนำไปกัดกับปลาลูกทุ่งแท้ ๆ ปลาลูกผสมนี้จะกัดทนกว่าปลาลูกทุ่ง  
                 4.4 ปลากัดจีน   เป็นปลากัดที่เกิดจากการเพาะและคัดพันธุ์ปลากัดโดยเน้นเพื่อความสวยงาม   พยายามคัดพันธุ์เพื่อให้ปลามีหางยาวและสีสันสดเข้ม   จนในปัจจุบันสามารถผลิตปลากัดจีนที่มีความสวยงามอย่างมาก   มีครีบต่างๆค่อนข้างยาว   โดยเฉพาะครีบหางจะยาวมากเป็นพิเศษและมีรูปทรงหลายแบบ   มีสีสันสดสวยมากมายหลายสี   เป็นปลาที่ไม่ค่อยตื่นตกใจเช่นเดียวกับปลาหม้อ   แต่ไม่มีความอดทน   เมื่อปล่อยกัดกันมักรู้ผลแพ้ชนะภายใน  10  นาที   ไม่นิยมใช้ในการกัดพนัน ปัจจุบันนิยมเรียกเป็นกลุ่มของ ปลากัดครีบยาว
.
 
ภาพที่ 8  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดจีน  
.
               ปัจจุบันผู้เพาะพันธุ์ปลากัดสามารถเพาะพันธุ์ปลากัดสายพันธุ์ใหม่ๆออกมาอีกหลายสายพันธุ์  และมีความหลากหลายทางด้านสีสันอีกด้วย  ทำให้มีการเรียกชื่อสายพันธุ์ปลากัดเพิ่มขึ้นอีกมากมาย  ได้แก่  ปลากัดครีบสั้น(ปลากัดหม้อ)สีเดียว  ปลากัดครีบยาว(ปลากัดจีน)สีแฟนซี  ปลากัดสองหาง (Double Tail)   ปลากัดหางหนามมงกุฎ (Crown Tail) ปลากัดหางพระจันทร์ (Halfmoon) เป็นต้น
    
ภาพที่ 9  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดครีบสั้นสีเดียว
.
    
ภาพที่ 10  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดครีบยาวสีแฟนซี
                                              ที่มา : สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ 2544  
.
  
ภาพที่ 11  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดสองหาง (Double Tail)
.
 
ภาพที่ 12  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดหางหนามมงกุฏ (Crown Tail)
.
 
ภาพที่ 13  แสดงลักษณะรูปร่างของปลากัดหางพระจันทร์ (Halfmoon)
5 การจำแนกเพศปลากัด        
                ปลากัดเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะภายนอกที่แสดงความแตกต่างกัน   ซึ่งพอจะสังเกต
ได้หลายประการ  คือ
                5.1 สีของลำตัว   ปลาเพศผู้จะมีสีของลำตัวและครีบ   เข้มและสดกว่าปลาเพศเมียอย่างชัดเจน   เมื่อปลามีอายุตั้งแต่  2  เดือน  หรือมีขนาดตั้งแต่  3  เซนติเมตรขึ้นไป
                5.2 ขนาดของตัว   ปลาที่เลี้ยงในครอกเดียวกันปลาเพศผู้จะเจริญเติบโตเร็วกว่าปลาเพศเมีย
                5.3 ความยาวครีบ   ปลาเพศผู้จะมีครีบหลัง   ครีบหาง   และครีบก้นยาวกว่าของปลาเพศเมียมาก   ยกเว้นปลากัดหม้อจะยาวต่างกันไม่มากนัก
                5.4 เม็ดไข่นำ  ปลาเพศเมียจะมีเม็ดหรือจุดขาวๆอยู่  1  จุด   ใกล้ๆกับช่องเปิดของช่องเพศ   ลักษณะคล้ายกับไข่ของปลากัดเอง   เรียกจุดนี้ว่าไข่นำ   ส่วนปลาเพศผู้ไม่มี   
.
  
ภาพที่ 14  แสดงความแตกต่างระหว่างเพศผู้(ซ้าย)และเพศเมีย(ขวา)
6 การแพร่พันธุ์ของปลากัด      
                ในธรรมชาติปลากัดเป็นปลาที่วางไข่ได้เกือบตลอดปี   โดยปลาจะจับคู่วางไข่ตามน้ำนิ่ง   ปลาเพศผู้จะทำหน้าที่สร้างรัง   ด้วยการก่อหวอดที่บริเวณผิวน้ำและจะติดอยู่ใต้ใบพันธุ์ไม้น้ำชายฝั่ง   หวอดนี้ทำจากลมและน้ำลายจากตัวปลา   โดยการที่ปลาเพศผู้จะโผล่ขึ้นมาที่ผิวน้ำ   แล้วใช้ปากฮุบเอาอากาศที่ผิวน้ำเข้าปาก   ผสมกับน้ำลายแล้วพ่นออกมาเป็นฟองอากาศเล็กๆลอยติดกันเป็นกลุ่มทรงกลม   เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  5  เซนติเมตร   จากนั้นจะกางครีบว่ายวนเวียนอยู่ใกล้ๆหวอด   เป็นเชิงชวนให้ปลาเพศเมียที่มีไข่แก่เข้ามาที่หวอด   การผสมพันธุ์วางไข่จะเกิดขึ้นในช่วงเช้า   เวลาประมาณ  7.00 - 8.00  .   โดยทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะเข้าไปอยู่ใต้รัง  จากนั้นปลาเพศผู้จะงอตัวรัดบริเวณท้องของปลาเพศเมีย   ลักษณะนี้เรียกว่า การรัด”   ปลาเพศเมียจะปล่อยไข่ออกมาครั้งละ  7 - 20 ฟองในขณะเดียวกันปลาเพศผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่   ในช่วงนี้ทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะค่อยๆจมลงสู่ก้นบ่อ   จากนั้นปลาเพศผู้จะค่อยๆคลายการรัดตัว   แล้วรีบว่ายน้ำไปหาไข่ที่กำลังจมลงสู่พื้น   ใช้ปากอมไข่นำไปพ่นติดไว้ที่หวอด   ปลาเพศเมียก็จะช่วยเก็บไข่ไปไว้ที่หวอดด้วย   เมื่อตรวจดูว่าเก็บไข่ไปไว้ที่หวอดหมดแล้ว  จากนั้นปลาก็จะทำการรัดตัวกันใหม่   ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนแม่ปลาไข่หมดท้อง   ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ  2  ชั่วโมง   เมื่อวางไข่หมดแล้วปลาเพศผู้จะไล่กัดขับไล่ปลาเพศเมียไม่ให้มาใกล้รังอีกเลย   เพราะเมื่อปลาเพศเมียวางไข่หมดแล้วมักจะกินไข่ของตัวเอง   จะมีเฉพาะปลาเพศผู้เท่านั้นที่คอยดูแลรักษาไข่   คอยไล่ไม่ให้ปลาตัวอื่นเข้าใกล้รัง   และจะคอยเปลี่ยนลมในหวอดอยู่เสมอ   ไข่ของปลากัดจัดว่าเป็นไข่ประเภทไข่ลอย   ถึงแม้ตอนปล่อยจากแม่ปลาใหม่ๆไข่จะจมน้ำ   แต่เมื่อถูกนำไปไว้ในหวอดจะพัฒนาเกิดหยดน้ำมันและลอยน้ำได้ดี   ลักษณะไข่เป็นเม็ดกลมสีขาว   ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ  30 - 40  ชั่วโมง   ปลาเพศเมียที่มีขนาดความยาวประมาณ  4 - 6  ซม.  จะมีไข่ประมาณ  300 - 700 ฟอง   เมื่อวางไข่ไปแล้วจะสามารถวางไข่ครั้งต่อไปภายในเวลาประมาณ  20 - 30  วัน
7 การเพาะพันธุ์ปลากัด      
                การเพาะพันธุ์ปลากัดดำเนินได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
                7.1 การเตรียมพ่อแม่พันธุ์   ปลากัดจะสมบูรณ์เพศเมื่ออายุ  4 - 6  เดือน   สามารถนำไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้   การเลือกปลาเพศผู้ควรเลือกปลาที่คึกคะนอง  คือ  เมื่อนำปลาดังกล่าวไปใกล้กับปลาเพศผู้ตัวอื่น   ก็จะแสดงอาการก้าวร้าวทันที   โดยจะกางกระพุ้งแก้มและกางครีบ  รี่เข้าหาปลาตัวอื่นทันทีพร้อมที่จะกัด   หรืออาจสังเกตจากการสร้างหวอดก็ได้   เพราะปลาเพศผู้ที่สมบูรณ์เพศและพร้อมจะผสมพันธุ์   มักจะสร้างหวอดในภาชนะที่เลี้ยงเสมอ   สำหรับปลาเพศเมียควรเลือกปลาที่มีท้องแก่  คือมีไข่แก่เต็มที่   โดยสังเกตได้จากส่วนท้องของปลา   ซึ่งจะขยายตัวพองออกอย่างชัดเจน   และเมื่อลองให้อดอาหารเป็นเวลา  1  วัน   ส่วนท้องก็ยังคงขยายอยู่เช่นเดิม   นำแม่ปลาที่เลือกได้ไปใส่ขวดแล้วนำไปวางเทียบกับปลาเพศผู้   เมื่อปลาเพศผู้แสดงอาการเกี้ยวพาราสี   ปลาเพศเมียที่ท้องแก่จะเกิดลายสีขาวแกมเหลืองพาดจากส่วนหลังลงไปทางส่วนท้อง  จำนวน 4 - 6 แถบ ในเรื่องสีสันของปลานั้นสามารถเลือกได้ตามความชอบของผู้ดำเนินการ  เพราะปลาสีต่างกันสามารถผสมกันได้             
.
 
ภาพที่ 15  แสดงลักษณะแม่ปลาที่ท้องแก่
.
               7.2 การเทียบพ่อแม่พันธุ์   เมื่อเลือกได้ปลาเพศผู้และเพศเมีย   ที่สมบูรณ์มีลักษณะและสีสันตามต้องการแล้ว   นำปลาใส่ขวดแก้วใสขวดละตัวแยกเพศกันไว้ก่อน   แล้วนำมาตั้งเทียบกันไว้   โดยการวางขวดใส่ปลาให้ชิดกันและไม่ต้อมีกระดาษปิดคั่น   ต้องการปล่อยให้ปลามองเห็นกัน   ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า การเทียบ”   ควรเทียบไว้นานประมาณ  4 - 7  วัน   เพื่อให้ปลาเกิดความเคยชินซึ่งกันและกัน   เมื่อปล่อยลงบ่อเพาะแม่ปลาจะไม่ถูกพ่อปลาทำร้ายมากนัก   ในขณะเดียวกันแม่ปลาก็จะมีไข่แก่เต็มที่
.
 
ภาพที่ 16  แสดงลักษณะการเทียบพ่อแม่พันธุ์ปลากัดในขวด(ซ้าย) และในภาชนะขนาดใหญ่(ขวา)
.
              7.3 การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์   บ่อหรือภาชนะที่จะใช้เป็นบ่อเพาะปลากัดควรมีขนาดเล็ก   ส่วนมากนิยมใช้ภาชนะต่างๆไม่มีบ่อถาวร  เช่น  อ่างดินเผา   กะละมัง   ถัง   หรือตุ่มน้ำขนาดเล็ก   เพราะสะดวกกว่าการเพาะในบ่อ  ภาชนะดังกล่าวมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  30 - 40  เซนติเมตร  ใส่น้ำสะอาดลงในภาชนะที่เตรียมไว้ให้มีระดับสูงประมาณ 10 - 15  เซนติเมตร  จากนั้นใส่พันธุ์ไม้น้ำที่มีใบหรือลำต้นอยู่ผิวน้ำ   เช่น  จอก   ผักตบชวา   ผักบุ้ง   หรือผักกระเฉด  ลงไปบ้างเล็กน้อยเพื่อให้ปลาสร้างหวอดได้ง่าย  
.
 
ภาพที่ 17  แสดงการเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ปลากัดโดยใส่เฉพาะใบไม้(ซ้าย) หรือภาชนะขนาดเล็กที่ปลาเข้าไปทำรังได้(ขวา)
.
 
ภาพที่ 18  การเพาะปลากัดลูกทุ่งในขวดโหล

 
ภาพที่ 19  แสดงภาชนะอื่นๆที่นำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ปลากัด
 .
                7.4 การปล่อยปลาลงบ่อเพาะ   เมื่อเทียบปลาไว้เรียบร้อยแล้วจึงปล่อยปลาทั้งคู่ลงบ่อเพาะที่เตรียมไว้  ต้องพยายามอย่าให้ปลาตื่นตกใจมากนัก   จากนั้นหาแผ่นวัสดุ  เช่น  กระดาษแข็ง   หรือแผ่นกระเบื้อง   ปิดบนภาชนะที่ใช้เพาะ   โดยปิดไว้ประมาณ  2  ใน  3  ของพื้นที่ปากภาชนะ   เพราะปลากัดมักชอบวางไข่ในบริเวณที่มืด   เนื่องจากต้องการความเงียบสงบ   วัสดุที่นำมาปิดจะสามารถช่วยบังแสงและกันลมไม่ให้หวอดของปลาแตก   เทคนิคที่สำคัญคือ  การปล่อยพ่อแม่ปลาควรปล่อยในตอนเย็น   เวลาประมาณ  17.00 - 18.00  .   เพราะโดยปกติแล้วเมื่อปล่อยพ่อแม่ปลารวมกัน   ปลาเพศผู้จะเกี้ยวพาราสีปลาเพศเมีย   โดยว่ายน้ำต้อนหน้าต้อนหลังอยู่ประมาณ  15  นาที   จากนั้นจะไล่กัดปลาเพศเมียจนปลาเพศเมียจะต้องหนีไปแอบซุกอยู่ตามพันธุ์ไม้น้ำ    แล้วปลาเพศผู้จะเริ่มหาที่ก่อหวอด   เมื่อก่อหวอดไปพักหนึ่งก็จะไปไล่กัดปลาเพศเมียอีก   ดังนั้นหากปล่อยปลาทั้งคู่ตั้งแต่เช้าปลาเพศเมียก็จะถูกกัดค่อนข้างบอบช้ำ   แต่ถ้าปล่อยใกล้ค่ำเมื่อปลาเพศผู้หาจุดสร้างรังได้ก็จะค่ำพอดี   ปลาเพศผู้จะไม่ไปรบกวนปลาเพศเมียอีก   แต่จะสร้างรังไปจนเรียบร้อย   รุ่งเช้าก็พร้อมจะผสมพันธุ์ได้
.
  
ภาพที่ 20  แสดงการปิดแสงบ่อเพาะพันธุ์ปลากัดเพียงบางส่วน(ซ้าย) หรือในขันปิดหมด(ขวา)
.
ภาพที่ 21  แสดงการใช้กระถางต้นไม้ในการเพาะพันธุ์ปลากัด
.
             7.5 การตรวจสอบการวางไข่ของปลา   ตามปกติแล้วถ้าปลามีการวางไข่   ก็มักจะวางไข่เสร็จก่อนเวลาประมาณ  10.00  .   ดังนั้นเมื่อปล่อยปลาลงบ่อเพาะแล้ว   เช้าวันต่อมาเวลาประมาณ  10.00  จึงค่อยๆลองแง้มฝาปิดดู   ถ้าพบว่ามีไข่เม็ดเล็กๆสีขาวอยู่ที่หวอด   และมีพ่อปลาคอยเฝ้าอยู่   ส่วนแม่ปลาหนีไปซุกอยู่ด้านตรงข้ามกับหวอด  แสดงว่าปลาวางไข่เรียบร้อยแล้ว   ค่อยๆช้อนแม่ปลาออกไปเลี้ยงต่อไป   ปลาเพศผู้จะคอยดูแลรักษาไข่   โดยหมั่นเปลี่ยนฟองอากาศในหวอดและตกแต่งหวอดให้คงรูปอยู่เสมอ   นอกจากนั้นยังคอยเก็บกินไข่เสียด้วย
 .
  
ภาพที่ 22 ลักษณะไข่ในหวอดใต้ใบไม้ (ซ้าย) และไข่ในหวอดที่มุมโหล (ขวา) จะเห็นฟองอากาศที่หวอดเ็ป็นสีขุ่นขาว
.
8 การอนุบาลลูกปลากัด      
                ลูกปลาจะฟักออกจากไข่หมดทุกฟองในวันที่สองหลังจากวางไข่   พ่อปลาจะคอยดูแลลูกที่ว่ายน้ำแล้วจมไปก้นบ่อ   โดยจะไปอมลูกกลับมาไว้ที่หวอดเช่นเดิม   รอจนตอนเย็นของวันถัดไปจึงช้อนเอาพ่อปลาออก   ลูกปลาจะตกใจกระจายตัวออกจากหวอด   ส่วนใหญ่ลงไปก้นบ่อแต่เมื่อรอสักครู่ก็จะพุ่งตัวขึ้นมาเกาะอยู่ตามพันธุ์ไม้น้ำหรือผนังบ่อใกล้ผิวน้ำ   ในวันต่อมาถุงอาหารของลูกปลาจะหมดไป   ลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำเพื่อหากินอาหาร
                การอนุบาลลูกปลากัดจะเริ่มจากที่ลูกปลาเริ่มหากินอาหาร   ซึ่งการอนุบาลลูกปลากัดนี้จัดว่าเป็นงานที่ค่อนข้างยาก   เนื่องจากปลากัดเป็นปลากินเนื้อตามที่กล่าวมาแล้ว   ลูกปลาจึงต้องการอาหารที่มีชีวิต   แต่ปัญหาจะอยู่ที่ว่าลูกปลากัดเป็นลูกปลาที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก   ปากจะไม่ใหญ่พอที่จะจับกินอาร์ทีเมียหรือไรแดงได้   อาหารที่เหมาะสมจะใช้ให้ลูกปลากินในช่วงนี้คือไข่แดง   โดยใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดมาต้มให้สุกแล้วแกะเอาเฉพาะไข่แดงไปเลี้ยงปลา   เนื่องจากลูกปลากัดจะต้องการจับกินอาหารมีชีวิตยังไม่สามารถกัดแทะอาหารได้   ดังนั้นต้องนำเอาไข่แดงที่จะใช้   เช่น  ลูกปลากัด  1  ครอกจะใช้ไข่แดงขนาดเท่าเม็ดถั่วดำต่อการให้  1  ครั้ง   ใส่ไข่แดงลงในกระชอนผ้า   แล้ววางกระชอนลงบนขันหรือแก้วที่ใส่น้ำไว้พอประมาณ   แล้วใช้นิ้วขยี้ไข่ในกระชอน   ไข่แดงก็จะละลายหรือกระจายตัวเป็นเม็ดเล็กๆผ่านผ้าออกไปในน้ำ   จากนั้นจึงใช้ช้อนตักแล้วค่อยๆรินลงบ่อปลาเพื่อให้อาหารมีการกระจายตัวทั่วบ่อ   ซึ่งจากการที่ได้ขยี้ไข่แดงผ่านผ้าจะทำให้ไข่แดงแตกตัวออกเป็นเม็ดขนาดเล็กมากและมีน้ำหนักค่อนข้างเบา   ดังนั้นจะมีการกระจายตัวได้ดีและจะค่อยๆจมตัวลง   ทำให้ลูกปลานึกว่าเป็นไรน้ำก็จะฮุบกินไข่แดงได้  
                สำหรับภาชนะที่ใช้ในการอนุบาล   ในช่วงแรกก็ควรยังเป็นภาชนะที่ใช้เพาะปลา  เพราะยังต้องการภาชนะขนาดเล็กอยู่   เนื่องจากการใช้ไข่แดงเป็นอาหารนั้น   ลูกปลาจะกินไข่แดงไม่หมด   เพราะไข่แดงส่วนใหญ่จะค่อยๆจมตัวตกตะกอนที่ก้นภาชนะ   และลูกปลาจะไม่ลงไปเก็บกินอีกเลย   ไข่แดงที่ตกตะกอนนี้ในวันต่อไปจะบูดเน่าเป็นเมือกอยู่รอบก้นภาชนะ   จึงจำเป็นต้องล้างบ่ออนุบาลหรือภาชนะที่ใช้อนุบาลทุกเช้า   ซึ่งกระทำได้ไม่ยาก  คือ   ใช้กระชอนวางลงในบ่ออนุบาลแล้วใช้ขันค่อยๆวิดน้ำออกจากในกระชอน   จะสามารถลดน้ำลงได้โดยลูกปลาไม่ติดออกมา   และเศษไข่ก็จะไม่ฟุ้งกระจายเพราะเป็นเมือกเกาะติดกับภาชนะ   ลดน้ำลงประมาณครึ่งภาชนะ   แล้วจึงยกภาชนะค่อยๆรินทั้งน้ำและลูกปลาลงภาชนะใหม่แล้วเติมน้ำ   จะเท่ากับเป็นการล้างบ่ออนุบาลและเติมน้ำใหม่ให้ลูกปลา   ทำเช่นนี้ประมาณ  3 - 5 วัน   ลูกปลาจะมีขนาดโตขึ้น   จะเปลี่ยนบ่ออนุบาลให้มีขนาดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น   อาจใช้กะละมังพลาสติกขนาดใหญ่หรืออ่างซีเมนต์   และควรอนุบาลต่อโดยใช้อาร์ทีเมียหรือไรแดงซึ่งลูกปลาจะจับกินได้แล้ว   เลี้ยงด้วยอาร์ทีเมียหรือไรแดงประมาณ  15 - 20  วันพร้อมทั้งถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ   ลูกปลาจะโตได้ขนาดประมาณ  1.0 - 1.5  เซนติเมตร   ก็จะเปลี่ยนลงบ่อบ่ออนุบาลให้มีขนาดใหญ่ขึ้นให้มีความจุมากกว่า  100  ลิตร   แล้วเริ่มฝึกให้ลูกปลากินอาหารสมทบ   โดยจะใช้ไข่ตุ๋น  คือนำไข่เป็ดหรือไข่ไก่มาตีให้ไข่ขาวและไข่แดงเข้ากันดี    ใส่เกลือและใส่น้ำพอประมาณเพื่อให้ไข่นุ่ม   จากนั้นนำไปนึ่งพอสุก   ไม่ควรนึ่งนานนักเพราะต้องการให้ไข่มีความนุ่ม   นำไปใส่ให้ปลากินโดยใช้นิ้วขยี้ไข่ให้แตกกระจายออกพอควร   และเริ่มให้มื้อเช้าแทนการให้ไร   ปลาจะเริ่มตอดกินได้เอง   เลี้ยงด้วยไข่ตุ๋นประมาณ  10  วันก็เปลี่ยนมาเป็นอาหารเม็ด   โดยช่วงแรกควรใช้อาหารปลาสวยงามชนิดเม็ดเล็กพิเศษ   ซึ่งค่อนข้างมีราคาแพงแต่ปลาจะกินได้ดี   จะใช้เพียง  3 - 5  วัน แล้วเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดเลี้ยงปลาดุกเล็ก   ลูกปลาก็จะสามารถตอดกินและเจริญเติบโตดี  ใช้เวลาอนุบาลลูกปลาประมาณ  50  วัน   ลูกปลาจะมีขนาดประมาณ  3  เซนติเมตร   ซึ่งพอจะ สามารถแยกเพศได้  
.
  
ภาพที่ 23  แสดงลักษณะลูกปลากัดที่เริ่มฟักตัว จะลอยตัวอยู่ใกล้ผิวน้ำโดยมีปลาเพศผู้คอยดูแล
.
   
ภาพที่ 24  แสดงลักษณะบ่ออนุบาลลูกปลากัดในบ่อซิเมนต์
.
    
ภาพที่ 25  การขยี้ไข่ตุ๋นผ่านผ้าไนล่อนเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงลูกปลาแทนอาหารมีชีวิต
                                                     ขยี้ผ่านครั้งแรกแล้วเทกลับลงบนไนล่อน ขยี้ผ่านอีกครั้งจะทำให้ได้ไข่ตุ๋นเป็นเม็ดเล็กๆ 
.
  
  
ภาพที่ 26  เมื่อลูกปลาเคยชินกับการกินไข่ตุ๋นแล้ว ก็ให้เป็นก้อนปลาจะค่อยๆเข้ามารุมล้อมแทะกินไข่ตุ๋น
.
9 การเลี้ยงปลากัด       
                บ่อเลี้ยงปลากัดถ้าเป็นบ่อดินควรมีขนาด  10 - 30  ตารางเมตร   ถ้าเป็นบ่อซีเมนต์ควรมีขนาด  2 - 6  ตารางเมตร   มีความลึกประมาณ  50 - 60  เซนติเมตร   คัดแยกลูกปลาจากบ่ออนุบาลโดยคัดเอาเฉพาะปลาเพศผู้มาเลี้ยง  เนื่องจากปลาเพศผู้เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าและราคาสูงกว่าปลาเพศเมียมาก   ปล่อยเลี้ยงในอัตรา  150 - 200 ตัว ต่อเนื้อที่  1  ตารางเมตรสำหรับบ่อดิน   และอัตรา  100 - 150 ตัว ต่อเนื้อที่  1  ตารางเมตรสำหรับบ่อซีเมนต์   แล้วเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดลอยน้ำ   นอกจากนั้นควรใส่พรรณไม้น้ำพวกสาหร่าย   และสันตะวา   เพื่อป้องกันการทำอันตรายจากปลาด้วยกันเอง   ใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ  50 - 60  วัน   ปลาจะมีขนาดประมาณ  5  เซนติเมตร   สามารถคัดแยกใส่ขวดเพื่อรอจำหน่ายต่อไป
 .
    
ภาพที่ 27  แสดงลักษณะบ่อเลี้ยงปลากัดทั้งบ่อซิเมนต์และบ่อดิน
                                                   ที่มา : http://fighterbetta.s5.com/howto.html(บ่อดิน)
.
1  2
3 4
5  6 
ภาพที่ 28  แสดงลักษณะฟาร์มเลี้ยงปลากัดจีน(จรินพรฟาร์ม) ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
                                             โรงเรือน  2 การวางขวดเลี้ยงปลา  บ่ออนุบาล  4 คัดปลาใส่ขวด
                              5 ล้างขวด   6 เติมน้ำ
 .
  
  
  
  
ภาพที่ 29  แสดงการเลี้ยงปลากัดลูกทุ่งในถังความจุประมาณ 70 ลิตร ซึ่งสามารถเลี้ยง
                                                        ปลากัดลูกทุ่งได้ถังละประมาณ 150-200 ตัว
.
   
ภาพที่ 30  แสดงการเลี้ยงปลากัดลูกหม้อในกะละมังความจุประมาณ 50 ลิตร ซึ่งสามารถเลี้ยง
                                                ปลากัดลูกหม้อได้กะละมังละประมาณ 120-150 ตัว
10 การลำเลียงปลากัด      
                เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวก Labyrinth  Fish จึงค่อนข้างมีความอดทน  ทำให้สามารถลำเลียงในภาชนะขนาดเล็กๆไปเป็นระยะทางไกลๆเป็นเวลานานได้โดยไม่ต้องมีการอัดออกซิเจน  วิธีการที่นิยมมากที่สุด คือการลำเลียงโดยบรรจุในถุงพลาสติกขนาดเล็กๆโดยไม่ต้องอัดออกซิเจน  และใช้กระดาษห่อด้านนอกเพื่อให้ปลาสงบนิ่งทำให้ใช้พลังงานน้อยลง  หรือการใช้ภาชนะขนาดเล็กๆพอดีกับตัวปลา  ใส่น้ำพอท่วมตัวปลาโดยไม่ต้องปิดฝา  แล้ววางเรียงซ้อนกันในกล่องโฟมอีกทีหนึ่ง  ก็จะสามารถลำเลียงปลากัดได้คราวละจำนวนมากและเป็นระยะทางไกล  หรือลำเลียงแบบรวมในถุงพลาสติคขนาดใหญ่โดยใส่ปลาจำนวนมากในแต่ละถุง
 .
  
ภาพที่ 31  แสดงลักษณะการลำเลียงปลากัดโดยใช้ถุงพลาสติค(ซ้าย) กับในขวดขนาดเล็ก(กลางและขวา)
.
 
ภาพที่ 32  แสดงลักษณะการลำเลียงปลากัดแบบรวมโดยใช้ถุงพลาสติคขนาดใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น